วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2550

นักวิจัยคณะวิทยาการสื่อสารระบุสื่อบุคคลมีศักยภาพสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน 3 จชต.


อาจารย์จารุณี สุวรรณรัศมี นักวิชาการประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในฐานะผู้วิจัย เรื่อง ข่าวสารและการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ :การเสริมสร้างประสิทธิภาพการสื่อสารของสื่อบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความสมานฉันท์ในชุมชน ที่ได้เสนอผลการวิจัยเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดประชุมนำเสนอผลงานวิจัยบูรณาการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องสะบารัง โรงแรมซีเอสปัตตานีว่า สื่อบุคคลเป็นสื่อดั้งเดิม ที่อยู่คู่ชุมชนมาช้านาน และได้รับการยอมรับจากชุมชนมากขึ้นในสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะชุมชนต้องการที่พึ่งพิงทางจิตใจ และเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสื่อมวลชน สับสนกับกระแสข่าวที่ไร้ทิศทาง เต็มไปด้วยข่าวลือและข่าวลวง รวมทั้งเกิดการคลางแคลงใจกับเจตนาของกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก

สื่อบุคคลที่มีความสำคัญมาก คือ กลุ่มผู้นำศาสนา และกลุ่มปกครอง เป็นกลุ่มที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือในระดับสูง ในขณะที่กลุ่มเยาวชนและกลุ่มสตรีเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในชุมชน ส่วนกลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มทหาร และกลุ่มตำรวจ เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงในการช่วยเหลือประชาชน แต่ควรปรับวิธีการทำงานอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธามากยิ่งขึ้น

ส่วนปัญหาสำคัญของสื่อบุคคลในพื้นที่ คือ ขาดทักษะด้านภาษา มีทั้งที่ไม่เข้าใจภาษาไทยกลาง และที่ไม่เข้าใจภาษามลายูถิ่น ขาดทักษะด้านการเลือกรับและคัดกรองข่าวสาร การรู้เท่าทันสื่อ และการทักษะด้านการคัดเลือกสารที่มีประโยชน์ที่จะส่งต่อไปยังผู้รับสารอื่นๆ สื่อบุคคลในชุมชนและภาคประชาชนยังไม่มีช่องทางที่จะเข้าถึงสื่อในระดับต่างๆ เช่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน เวทีประชาคม

ด้านข้อเสนอแนะจากการวิจัยนั้น ภาครัฐ หน่วยงาน และองค์กรภายนอก ควรเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคิดออกแบบโครงการของตนเองให้มากขึ้น กลุ่มสื่อบุคคล ภาคประชาชน ต้องเพิ่มบทบาทในการเป็นตัวกลางเพื่อประสานความขัดแย้ง สร้างเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็ง

ม.อ.ปัตตานีจับมือ วช.เสนอผลงานวิจัยแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้


วันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดประชุมนำเสนอผลงานวิจัยบูรณาการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องสะบารัง โรงแรมซีเอสปัตตานี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยบูรณาการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ประสานงาน กล่าวว่า เหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์มลายูของสังคม การวิจัยชุดนี้เป็นความพยายามหนึ่งในการแสวงหาคำตอบ และการเปิดเวทีให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการเข้าร่วมรับฟังการเสนอผลงานการวิจัย ก็เป็นความพยายามหนึ่งที่จะเชื่อมการวิจัยไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

สำหรับการวิจัยที่มีการนำเสนอประกอบด้วย 5 ด้าน จำนวน 13 โครงการวิจัย คือ


กลุ่มที่ 1 การวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์มลายู และการสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย


โครงการวิจัยเรื่อง มลายูปตานี: ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ และการเปลี่ยนแปลง โดย ผศ.วรวิทย์ บารู


โครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาวิถีชีวิตของเยาวชนไทยมุสลิม เพื่อเสริมสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รศ.ดลมนรรจน์ บากา

กลุ่มที่ 2 การวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย

โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดของอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออกของประเทศไทย โดย ผศ.ไพรัช วัชรพันธุ์

โครงการวิจัยเรื่อง ศักยภาพและข้อจำกัดการผลิตข้าวเพื่อความมั่นคงของชาวนาในจังหวัดปัตตานี โดย รศ.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล

โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางพัฒนาการจัดการประมงชายฝั่งโดยองค์กรท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี และนราธิวาส โดย อ.เกื้อ ฤทธิบูรณ์


กลุ่มที่ 3 การวิจัยเพื่อการพัฒนาข้อเสนอนโยบายด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ภาษา และรูปแบบการบริหารสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย

โครงการวิจัยเรื่อง การศึกษานโยบาย มาตรการ และแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบ และการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ และคณะ

โครงการวิจัย เรื่อง รูปแบบบริหารพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รศ.ดร.อาคม ใจแก้ว


กลุ่มที่ 4 การวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบการฝึกอบรมที่สร้างการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การรับรู้ข่าวสารของประชาชน และการย้ายถิ่น ประกอบด้วย

โครงการวิจัย เรื่อง การกำหนดและประเมินสมรรถนะบุคลากรภาครัฐที่เหมาะสมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ดร.ชาลี ไตรรัตน์

โครงการวิจัยเรื่อง ผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกรณีการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางแก้ไข โดย ผศ.ปิยะ กิจถาวร

โครงการวิจัยเรื่อง ข่าวสารและการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเสริมสร้างประสิทธิภาพการสื่อสารของสื่อบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความสมานฉันท์ในชุมชน โดย อ.จารุณี สุวรรณรัศมี


กลุ่มที่ 5 การวิจัยเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพทวิภาษา การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย

โครงการวิจัย เรื่อง รูปแบบการพัฒนาความสามารถด้านการสื่อสารทวิภาษาระดับเบื้องต้นของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ผศ.ดร.ปราถนา กาลเนาวกุล

โครงการวิจัยเรื่อง วิเคราะห์ความต้องการการพัฒนากรอบหลักสูตรในโรงเรียนตาดีกา และสถาบันศึกษาปอเนาะ โดย ผศ.ดร.อิบราเฮม ณรงค์รักษาเขต

โครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามวิถีอิสลามในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเพื่อบูรณาภาพสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รศ.ดร.ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2550

พบกับ "คู่มือการสื่อข่าวสถานการณ์ความขัดแย้ง: สำนึกไหวรู้ของนักวารสารศาสตร์" เร็ว ๆ นี้

คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมเผยแพร่แจกจ่าย "คู่มือการสื่อข่าวสถานการณ์ความขัดแย้ง: สำนึกไหวรู้ของนักวารสารศาสตร์" เพื่อเป็นต้นแบบแนวปฏิบัติทางจริยธรรมของผู้สื่อข่าวในการรายงานข่าวความขัดแย้งและสร้างเสริมสันติภาพ เร็ว ๆ นี้

คู่มือดังกล่าวแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า "Conflict Sensitive Journalism: A Handbook by Ross Howard" โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วลักษณ์กมล จ่างกมล นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร

สำหรับการจัดพิมพ์นั้นได้รับการสนับสนุนจากศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเผยแพร่สู่สาธารณะได้เร็ว ๆ นี้

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ภารกิจของเรา: การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ

คำกล่าวปิดการสัมมนา เรื่อง การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ
คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันที่ 20 กรกฎาคม 2550

__________

เรียน ท่านวิทยากร และผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกท่าน

สำหรับการสัมมนา เรื่อง การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ ในครั้งนี้ก็ได้มาถึงช่วงสุดท้ายของการสัมมนาแล้ว แต่สำหรับการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพในสนามแห่งการปฏิบัติงานจริงนั้น อาจกล่าวได้ว่าเรายังอยู่ในช่วงของการก้าวเริ่ม แม้ว่าจะมีผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อมวลชนหลายองค์กรได้เป็นผู้นำในการก้าวไปข้างหน้าด้วยการเริ่มทำงานตามแนวคิดการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกและนำร่องที่มีคุณูปการแก่แวดวงสื่อสารมวลชนของเรา แต่ในภาพรวมของสังคมไทยทุกท่านในที่นี้คงเห็นด้วยว่าเราต้องช่วยกันผลักดันให้แนวคิดนี้ให้แพร่หลายและเป็นจริงในทางปฏิบัติต่อไป

เราเริ่มต้นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้วยการปูพื้นความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ และการสื่อข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งโดยจากมุมมองของทั้งนักวิชาการและนักวิชาชีพที่ได้ผ่านการค้นคว้าและการทำวิจัยข้อมูลทั้งในและต่างประเทศมาเป็นอย่างดี ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการไปสู่เป้าหมายหรือ “ธง” ของ “การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ” ได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการสัมมนาครั้งนี้ก็คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้สื่อข่าวมืออาชีพในสนามความขัดแย้ง ทั้งจากกรณีตัวอย่างสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากสนามข่าวอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าในกระบวนการที่จะก้าวไปสู่ปลายทางของการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพนั้น เราต้องเตรียมตัวและเตรียมเครื่องมือทางวิชาชีพของเราเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีจริยธรรมและคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมได้อย่างไรบ้าง

คู่มือการปฏิบัติงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง ฉบับแปลจากต่างประเทศที่เราได้นำเสนอในการสัมมนาครั้งนี้ เป็นเพียงตุ๊กตาที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ว่าสังคมสื่อมวลชนในประเทศอื่น ๆ เขาได้นำเสนอแนวทางการปฏิบัติงานทางวิชาชีพไว้อย่างไรบ้าง และเรานำเสนอขึ้นมาเพื่อกรุยทางสำหรับการถามคำถามที่ว่า “ถึงเวลาหรือยังที่สังคมสื่อมวลชนไทยควรมีคู่มือการปฏิบัติงานข่าวเพื่อสันติภาพและเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง?” ซึ่งจากผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอความคิดเห็นในการสัมมนาในครั้งนี้ ทุกท่านคงจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ดีหากเราจะได้พัฒนาคู่มือการปฏิบัติของผู้สื่อข่าว โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทยไม่เพียงแต่เฉพาะภาคสื่อมวลชนเองเท่านั้น

ในประเด็นของการมีส่วนร่วมของภาคส่วนและภาคีต่าง ๆ เพื่อพัฒนากระบวนการสื่อสารเพื่อสันติภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพด้วยนั้น จากการวิจัย เรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ ของคณะวิทยาการสื่อสาร เราพบว่ารูปแบบการจัดการกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสันติสุขที่จะช่วยส่งเสริมบทบาทของ “สื่อและการสื่อสาร” ให้สามารถทำหน้าที่คลี่คลายความขัดแย้งให้เบาบางลงได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น โอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาสื่อเพื่อสันติภาพในบริบทของสังคมไทยนั้น จะต้องเริ่มจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทบทวน ออกแบบ และรื้อสร้างใหม่ โดยองค์กรสื่อต้องตระหนักถึงความคาดหวังของสังคมที่มีต่อตนเอง และตระหนักถึงอิทธิพลที่ตนเองมีต่อทัศนคติและพฤติกรรมของผู้รับสาร และที่สำคัญเราเชื่อมั่นว่าหากสื่อมวลชนได้กำหนดเป้าหมายและเจตจำนงที่มุ่งมั่นเป็นสื่อเพื่อสันติภาพแล้ว จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนกรอบแนวคิด ตลอดจนแนวทางการนำเสนอ ร่วมกับปฏิรูปข้อกำหนดจริยธรรมทางวิชาชีพ และการผสมผสานรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรที่โปร่งใสในรูปของคณะกรรมการที่เป็นกลางและเน้นการทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องใช้ปัจจัยเกื้อหนุนอื่นทางสังคม ทั้งภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาครัฐ

สำหรับภาคส่วนอื่นที่จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนนั้น เราเชื่อมั่นการที่จะทำให้กระบวนการสื่อสารเพื่อสันติภาพเป็นจริงในทางปฏิบัติได้นั้น ภาครัฐซึ่งเป็นผู้ออกกฎหมายและบังคับนโยบายนั้นจะต้องดำเนินการในแง่ที่เกี่ยวกับกระบวนการสื่อสารในลักษณะต่าง ๆ กล่าวคือ ลดการแทรกแซงแต่เพิ่มการหนุนเสริม ลดการควบคุมแต่เพิ่มการคุ้มกัน ลดการชี้นำแต่เพิ่มความร่วมมือ และประการสุดท้าย เราเรียกร้องว่าภาครัฐต้องลดการส่งข่าวแต่เพิ่มการสื่อสาร ทั้งกับสื่อมวลชนและประชาชน

สำหรับภาคสังคมและประชาชน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญยิ่งที่เราต้องตระหนักถึง เพราะเขาเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงและจากการทำหน้าที่ที่บกพร่องของสื่อมวลชน เราคาดหวังว่าจะช่วยกันพัฒนาศักยภาพของผู้รับสารจากการเป็นเพียง “ผู้บริโภค” ที่เปิดรับเนื้อหาเพียงอย่างเดียว มาเป็น “พลเมืองที่รู้เท่าทัน” ที่สามารถคัดเลือก กลั่นกรอง เลือกใช้ และสื่อสารกลับในสิ่งตนเองต้องการไปยังสื่อมวลชนได้ คณะวิทยาการสื่อสารคาดหวังว่าเราจะมีเวทีสำหรับการพัฒนาคุณภาพผู้รับสารในสถานการณ์ความขัดแย้ง และเราตั้งใจว่าจะร่วมกับทุกท่าน ณ ที่นี้ และอีกหลากหลายภาคีในสังคมในการพัฒนา “คู่มือการบริโภคข่าวความขัดแย้ง”

สำหรับอีกหนึ่งภาคีคือ ภาควิชาการนั้น เราตระหนักดีว่าการเผยแพร่แนวคิดและแนวปฏิบัติของการสื่อสารเพื่อสันติภาพยังคงต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการค้นคว้า วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสังคมไทยยังคงจำเป็นยิ่ง ดังนั้น เวทีการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ ในครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่จะเกิดขึ้น และในอีกด้านหนึ่ง เราเชื่อว่าทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่วิชาชีพสื่อมวลชน จะเป็นตัวแปรสำคัญของวงการสื่อเพื่อสันติภาพในอนาคต นี่เป็นพันธกิจสำคัญประการหนึ่งที่ภาควิชาการไม่อาจละเลย ภาควิชาการมีหน้าที่ในการฟูมฟัก หล่อหลอม และพัฒนาให้ทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่ของเรามี “สันติภาพ” เป็นเป้าหมายในการประกอบวิชาชีพผู้สื่อข่าว

ในนามของผู้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ดิฉันขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนให้การดำเนินงานของเราสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ขอบคุณท่านวิทยากรทุกท่านที่ได้ช่วยกันเติมเต็มสาระด้านต่าง ๆ ของการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา ขอบคุณผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ร่วมกันเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเดินต่อไปของแนวคิดและแนวปฏิบัติการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพในสังคมไทยของเรา และขอขอบคุณศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ภาครัฐที่พร้อมจะเป็นกองหนุนสำคัญของการสร้างสังคมสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา

สุดท้ายนี้ ขออวยพรให้ทุกท่านเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ สวัสดีค่ะ

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

Peace Journalism: ความหวังสู่สันติภาพ…?

นับเนื่องจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินชนตึกเวิร์ลดเทรดที่สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 11 กันยายน 2543 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในหลายประเทศ แม้ความรุนแรงนี้จะอยู่คนละซีกโลกกับบ้านเรา แต่เหตุการณ์เผาโรงเรียนวันที่ 4 มกราคมเมื่อ 3 ปีก่อน ที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กลับทำให้รู้สึกว่าความรุนแรงมันได้ขยับเข้ามาอยู่ใกล้ๆ เราแล้ว จนวันนี้เหตุการณ์ความรุนแรง การประหัตประหารเอาชีวิตกันก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่มีท่าทีจะลดน้อยลงแต่อย่างใด

ขณะที่ความขัดแย้ง และความรุนแรงยังคงเกิดขึ้น การปฎิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวดังกล่าว กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการวารสารศาสตร์ และสาธารณชนมากขึ้นทุกขณะ ว่า เนื้อหาเหล่านั้นโหมกระพือให้เกิดการใช้กำลังเข้าเผชิญหน้ากัน เกิดการแบ่งแยกฝ่ายเขาฝ่ายเรา และบางครั้งยังค่อนขอดผู้สื่อข่าว และองค์กรสื่อมวลชนว่า ขาดความเข้าใจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเพียงพอ คำถามที่ตามมาติดๆ คือ ความรู้ และทักษะการสื่อข่าวที่สั่งสอนกันในสถาบันผลิตนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนั้น เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการปฎิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ตึงเครียดแบบนี้หรือไม่


นี่จึงเป็นที่มาของการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในทางวารสารศาสตร์ ที่จะเปิดกรอบความคิดของนักวิชาการ และนักวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้การสื่อข่าวเป็นส่วนหนึ่งของความหวังในการคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นั่นคือแนวคิดที่เรียกว่า “Peace Journalism” หรือ การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ

จากข้อเขียนของ Ross Howard นักวิชาชีพและนักวิชาการด้านการสื่อสารข่าวเพื่อสันติภาพ เจ้าของหนังสือ Conflict sensitive Journalism เขียนเตือนใจแก่ผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้งว่า การทำงานของผู้สื่อข่าวมืออาชีพไม่ได้มุ่งหวังที่จะลดปัญหาความขัดแย้ง แต่การรายงานข่าวที่ดี ถูกถ้วน ไม่เอียงเอนนั้น บ่อยครั้งก็นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง

Howard ย้ำว่า สังคมถูกคุกคามจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งมากขึ้นทุกขณะ ก็ส่งผลให้วิชาชีพวารสารศาสตร์เผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการปฎิบัติหน้าที่ เพราะฝ่ายที่ขัดแย้งกันต่างก็พยายามเข้ามาควบคุมสื่อ ข้อมูลข่าวสารจึงเชื่อถือไม่ได้ หรืออาจถูกกลั่นกรอง ตัดทอน ประกอบกับมีประเด็นความเสี่ยงในความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ซึ่งการสื่อข่าวที่ดีและมีคุณภาพก็ยิ่งมีความจำเป็นมากที่สุดต่อสังคม

การสื่อข่าวที่น่าเชื่อถือแก่สาธารณะในช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงนั้น จำเป็นต้องใช้ทักษะทางวิชาชีพมากเป็นพิเศษกว่าการรายงานข่าวในภาวะปกติ ซึ่งผู้สื่อข่าวต้องมีความเข้าใจมากขึ้นว่าอะไรคือต้นตอของความขัดแย้ง และความขัดแย้งนั้นจะดำเนินไปหรือจะมีจุดจบลงอย่างไร ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องรู้ว่าจะไปหาข้อมูลถึงสาเหตุและทางออกของความขัดแย้งได้จากที่ไหน การที่ผู้สื่อข่าวให้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้แก่สาธารณชนจะทำให้ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจมากยิ่งขึ้นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรง และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้

รายงานการวิจัยโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ เรื่อง สื่อเพื่อสันติภาพ: จริยธรรม การจัดการ และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา โดยนางวลักษณ์กมล จ่างกมล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพมีการใช้กันมาตั้งแต่ ค.ศ.1970 โดยศาสตราจารย์ Johan Galtung นักวิชาการชาวนอร์เวย์ ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการ TRANSCEND Peace and Development Network ซึ่งเป็นองค์กรที่เผยแพร่และรณรงค์แนวคิดเรื่องสื่อเพื่อสันติภาพ หวังที่จะกระตุ้นและสนับสนุนให้สื่อมวลชนเห็นความสำคัญของสันติภาพ ซึ่ง Galtung กังวลว่าสงครามการรายงานข่าวความขัดแย้งของสื่อมวลชนคล้ายคลึงกับการรายงานข่าวกีฬา ที่มุ่งหาผู้แพ้ผู้ชนะ เขาจึงเสนอว่าการรายงานในสถานการณ์เช่นนี้ควรเหมือนกับการรายงานข่าวสุขภาพที่ผู้สื่อข่าวจะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่ากำลังเผชิญกับโรคอะไร และสาเหตุของโรคคืออะไร ขณะเดียวกันก็ต้องนำเสนอด้วยว่า จะมีทางเลือกอะไรบ้างที่จะป้องกันและรักษาโรคร้ายนี้ ดังนั้นการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพต้องคำนึงถึงความครอบคลุม เป็นธรรม และถูกต้องให้มากขึ้น เพื่อนำเสนอเหตุการณ์และมองลึกไปถึงการวิเคราะห์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมถึงหาหนทางที่จะก้าวพ้นไปจากความขัดแย้งนั้น

ผศ.วลักษณ์กมล นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี เห็นว่า การรายงานข่าวเพื่อสันติภาพต้องก้าวพ้นไปจากการตอบคำถาม 5W1H (What, Where, Who, When, Why, How) ตามหลักวารสารศาสตร์แบบเดิม แต่ต้องเพิ่มเติม “S” Solution หรือ การแก้ปัญหา และ “C” Common Ground หรือ การนำเสนเบื้องลึกของความขัดแย้ง ผนวกเข้าไปด้วย เราจะเห็นว่าหลักการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพไม่ได้มองสื่อมวลชนเป็นแค่ผู้ส่งข่าวสาร แต่เป็นกลไกในการสร้างสันติภาพด้วย

แม้ว่าแนวคิดการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพอาจทำได้ยาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสาเหตุและเบื้องหลังของปัญหาที่สลับซับซ้อนเกินกว่าที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะหาคำตอบได้เพียงลำพัง แต่หากสื่อมวลชนได้พยายามอย่างเต็มกำลังที่จะใช้เทคนิคการสื่อข่าวแบบสืบสวนสอบสวน ผนวกกับแนวปฏิบัติของการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ ที่ยึดเป้าหมายของความสงบสุขที่ปราศจากความรุนแรงเป็นสำคัญ ความสลับซับซ้อนนี้ก็อาจจะสามารถคลี่คลายลงได้

“ขณะนี้สื่อมวลชนไทยมีแนวโน้มที่จะรายงานข่าวเพื่อสันติภาพมากขึ้นกว่าตอนที่เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นใหม่ๆ ตัวอย่างรูปธรรม เช่น การเกิดขึ้นของศูนย์ข่าวอิศรา การรายงานข่าวที่เน้นเบื้องหลังความขัดแย้งมากขึ้น การมีรายงานพิเศษที่ให้มุมมองใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากปรากฏการณ์ที่มองเห็น แต่เราก็คงต้องผลักดันให้แนวคิดการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพให้แพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันสร้างสังคมที่สันติสุข” นักวิชาการคณะวิทยาการสื่อสาร กล่าว

ในงานวิจัยของผศ.วลักษณ์กมล ยังพบว่า งานวิชาการที่ศึกษาเรื่องการเสนอข่าวความขัดแย้งในต่างประเทศ ซึ่งใช้วิธีการศึกษาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ จำนวน 10 ฉบับในเอเชีย 4 ประเทศ ที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ คือ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และอินโดนีเซีย โดยกำหนดประเด็นข่าวความขัดแย้งที่ใช้ในการศึกษา 4 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ความขัดแย้งในแคชเมียร์ระหว่างปากีสถานและอินเดีย เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลมกับรัฐบาลศรีลังกา เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์และมาลุกุกับรัฐบาลอินโดนีเซีย และเหตุการณ์ในเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปินส์


ผลการศึกษาพบว่า การนำเสนอข่าวเหล่านี้โน้มเอียงไปในทางการสื่อข่าวเพื่อขยายความขัดแย้ง หรือ War Journalism มากกว่า โดยเฉพาะเหตุการณ์ในแคชเมียร์ที่หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวในทาง War Journalism อย่างเข้มข้น คือ นำเสนอแต่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ขาดการสืบค้นหาที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ไม่นำเสนอหนทางการแก้ปัญหาในระยะยาว และให้ความสำคัญกับผู้นำทางการเมืองและการทหาร ซึ่งจัดเป็นคุณลักษณะของ War Journalism อย่างชัดเจน


“หนังสือพิมพ์ละเลยที่จะนำเสนอข้อมูลของกองกำลังที่ต้องบาดเจ็บในสนามรบ หรือ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสังคม ขณะเดียวกันก็มักนำเสนอข่าวโดยแสดงการแบ่งแยก และชี้ชัดฝ่ายดีกับฝ่ายร้าย ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงอคติส่วนตัวในการด่วนตัดสินว่าใครเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น” งานวิจัยในต่างประ เทศ ระบุ


ผศ.วลักษณ์กมล ยังได้ศึกษาทิศทางการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย จำนวน 3 ฉบับ คือ กรุงเทพธุรกิจ ไทยรัฐ และมติชน ในการรายงานข่าวเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่จ.นราธิวาส เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่จ.ปัตตานี และเหตุการณ์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จำนวน 232 ชิ้นข่าว พบว่า มีเพียง 43 ชิ้นข่าว หรือร้อยละ 18.53 จัดอยู่ในการายงานข่าวเพื่อสันติภาพ ขณะที่อีก 169 ชิ้นข่าว หรือร้อยละ 72.85 จัดอยู่ในการรายงานข่าวเพื่อขยายความขัดแย้ง และจำนวน 20 ชิ้นข่าวหรือร้อยละ 8.62 จัดอยู่ในประเภทของเนื้อหาที่เป็นกลาง


“หนังสือพิมพ์มติชนเป็นหนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าวเชิง Peace Journalism มากที่สุด ร้อยละ 30 รายงานข่าวแบบ War Journalism ร้อยละ 60 รองลงมาเป็นหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอข่าวแบบ Peace Journalism ร้อยละ 17.65 และนำเสนอข่าวแบบ War Journalism ร้อยละ 74.11 ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนำเสนอข่าวแบบ Peace Journalism น้อยที่สุด เพียงร้อยละ 5.97 นำเสนอข่าวแบบ War Journalism มากที่สุด 86.57”


ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และหัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพมีความจำเป็นกับนักวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนและเราพบว่าเนื้อหาในสื่อมวลชนมีแนวโน้มการแบ่งฝ่ายเขาฝ่ายเรามากขึ้น ขณะที่แนวคิดเรื่องคุณค่าข่าวในทางวารสารศาสตร์ หรือ บัญญัติ 10 ประการ มีโอกาสที่จะเอื้อให้สื่อมวลชนละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และที่สำคัญขาดการผนวกประเด็นเรื่องความเข้าอกเข้าใจกัน ความสมานฉันท์ เป็นส่วนหนึ่งคุณค่าข่าว


“โลกเราเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสื่อมวลชนต้องปรับตัว และนำแนวคิด Peace Journalism ไปประยุกต์ใช้ในการปฎิบัติหน้าที่ แม้ Peace Journalism จะไม่ใช่ความหวังเดียว แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ” ดร.พิรงรอง กล่าว


ต่อข้อถามที่ว่า ถ้ามี Peace Journalism แล้วจะเกิดผลดีอย่างไร ดร.พิรงรอง มองว่า แนวคิดนี้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพทางวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เดิมนั้นมุ่งเน้นการผลิตเนื้อหาบันเทิง ที่เกี่ยวพันกับ Rating Culture เพียงอย่างเดียว แต่ไม่นำไปสู่ความสมานฉันท์ แนวคิด Peace Journalism เป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนค่านิยมสื่อมวลชนให้เห็นความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศีลธรรม และจริยธรรม และเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มคนต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันในพื้นที่สื่อมวลชน รวมถึงเป็นการเปิดกรอบความคิดทางวิชาการ และวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น เพราะแนวคิด Peace Journalism เป็นแนวคิดใหม่ที่ต้องร่วมกันศึกษา ปรับประยุกต์ให้เข้ากับสังคมไทย และผลักดันไปสู่การปฎิบัติให้เป็นรูปธรรม


อย่างไรก็ตาม หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า แนวคิดนี้จะเป็นรูปธรรมได้จริงมากน้อยเพียงใด เพราะสื่อมวลชนเป็นลักษณะอุตสาหกรรมภายใต้ลัทธิโลกาภิวัฒน์ เป็นธุรกิจผูกขาด มุ่งเน้นผลกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด ขณะเดียวกันสื่อมวลชนส่วนใหญ่มีรัฐเป็นเจ้าของ และบรรทัดฐานสื่อมวลชนยังให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจ นี่เป็นปัญหาทั้งระดับโครงสร้าง และกรอบคิดของนักวิชาชีพ ที่ต้องร่วมกันตั้งคำถามว่า ถ้าเราจะมีสื่อมวลชนเพื่อสันติภาพ เราควรจะมีสื่อทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่เราควรแสวงหาทางออกร่วมกัน


นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา ซึ่งเป็นความพยายามหนึ่งของนักวิชาชีพสื่อมวลชนที่นำโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่จะรายงานข่าวเพื่อจรรโลงสันติภาพให้เกิดแก่สังคม มองว่า การมีสถาบันสื่อมวลชนเพื่อสันติภาพ คงไม่ได้หมายถึงการมีองค์กรสื่อมวลชนขึ้นมาเพียงลำพัง แต่จะต้องเกิดจากการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายร่วมกันกับสื่อกระแสหลัก สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมาศูนย์ข่าวอิศราได้ทำหน้าที่ในการแบ่งเบาความรู้สึกคับข้องใจในสถานการณ์ชายแดนใต้


ศูนย์ข่าวอิศราเป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เป็นสื่อกลางแห่งการเรียนรู้ของคนที่ต่างกัน ทั้งในเชิงพื้นที่ ความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา ให้ข้อมูลข่าวสารที่มาจากชีวิตจริง และเป็นสื่อแนวราบและแนวดิ่ง คือ การปฎิบัติหน้าที่มีการเชื่อมประสานกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนกระแสหลัก
“โจทย์สำคัญ คือ สื่อสันติภาพจะต้องเป็นพลังขับเคลื่อนของภาคประชาชน เป็นโต๊ะข่าวที่อธิบายปรากฎการณ์ในเชิงลึก ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาสื่อเดิมที่มีอยู่ด้วยจะดีหรือไม่” อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา กล่าว



ส่วนนายมันโซร์ สาและ เจ้าหน้าที่จากโครงการสื่อเพื่อความยุติธรรม กลับยังไม่เห็นความหวังว่า สื่อมวลชนในปัจจุบันจะให้ความสนใจกับการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพอย่างเพียงพอกับระดับความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสื่อมวลชนกระแสหลักไม่สามารถข้ามพ้นปัญหาทางโครงสร้างของสื่อมวลชนได้



“สถาบันการศึกษาอาจเริ่มสร้างสื่อเพื่อสันติภาพเป็นต้นแบบเล็กๆ เพื่อบ่มเพาะนักวิชาชีพรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจสันติภาพและเข้าหาพื้นที่มากขึ้น เป็นพลังสำคัญของการสร้างสื่อชุมชน” เจ้าหน้าที่โครงการสื่อเพื่อความยุติธรรม กล่าวทิ้งท้าย
ผู้เรียบเรียง ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี

----------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล
----------------------------------------------

วลักษณ์กมล จ่างกมล 2550 รายงานวิจัย เรื่อง สื่อเพื่อสันติภาพ: จริยธรรม การจัดการ และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สนับสนุนการวิจัยโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

งานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ เรื่อง การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ จัดโดยคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2550 ณ จ.สงขลา