วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ภารกิจของเรา: การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ

คำกล่าวปิดการสัมมนา เรื่อง การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ
คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันที่ 20 กรกฎาคม 2550

__________

เรียน ท่านวิทยากร และผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกท่าน

สำหรับการสัมมนา เรื่อง การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ ในครั้งนี้ก็ได้มาถึงช่วงสุดท้ายของการสัมมนาแล้ว แต่สำหรับการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพในสนามแห่งการปฏิบัติงานจริงนั้น อาจกล่าวได้ว่าเรายังอยู่ในช่วงของการก้าวเริ่ม แม้ว่าจะมีผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อมวลชนหลายองค์กรได้เป็นผู้นำในการก้าวไปข้างหน้าด้วยการเริ่มทำงานตามแนวคิดการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกและนำร่องที่มีคุณูปการแก่แวดวงสื่อสารมวลชนของเรา แต่ในภาพรวมของสังคมไทยทุกท่านในที่นี้คงเห็นด้วยว่าเราต้องช่วยกันผลักดันให้แนวคิดนี้ให้แพร่หลายและเป็นจริงในทางปฏิบัติต่อไป

เราเริ่มต้นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้วยการปูพื้นความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ และการสื่อข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งโดยจากมุมมองของทั้งนักวิชาการและนักวิชาชีพที่ได้ผ่านการค้นคว้าและการทำวิจัยข้อมูลทั้งในและต่างประเทศมาเป็นอย่างดี ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการไปสู่เป้าหมายหรือ “ธง” ของ “การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ” ได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการสัมมนาครั้งนี้ก็คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้สื่อข่าวมืออาชีพในสนามความขัดแย้ง ทั้งจากกรณีตัวอย่างสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากสนามข่าวอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าในกระบวนการที่จะก้าวไปสู่ปลายทางของการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพนั้น เราต้องเตรียมตัวและเตรียมเครื่องมือทางวิชาชีพของเราเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีจริยธรรมและคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมได้อย่างไรบ้าง

คู่มือการปฏิบัติงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง ฉบับแปลจากต่างประเทศที่เราได้นำเสนอในการสัมมนาครั้งนี้ เป็นเพียงตุ๊กตาที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ว่าสังคมสื่อมวลชนในประเทศอื่น ๆ เขาได้นำเสนอแนวทางการปฏิบัติงานทางวิชาชีพไว้อย่างไรบ้าง และเรานำเสนอขึ้นมาเพื่อกรุยทางสำหรับการถามคำถามที่ว่า “ถึงเวลาหรือยังที่สังคมสื่อมวลชนไทยควรมีคู่มือการปฏิบัติงานข่าวเพื่อสันติภาพและเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง?” ซึ่งจากผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอความคิดเห็นในการสัมมนาในครั้งนี้ ทุกท่านคงจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ดีหากเราจะได้พัฒนาคู่มือการปฏิบัติของผู้สื่อข่าว โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทยไม่เพียงแต่เฉพาะภาคสื่อมวลชนเองเท่านั้น

ในประเด็นของการมีส่วนร่วมของภาคส่วนและภาคีต่าง ๆ เพื่อพัฒนากระบวนการสื่อสารเพื่อสันติภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพด้วยนั้น จากการวิจัย เรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ ของคณะวิทยาการสื่อสาร เราพบว่ารูปแบบการจัดการกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสันติสุขที่จะช่วยส่งเสริมบทบาทของ “สื่อและการสื่อสาร” ให้สามารถทำหน้าที่คลี่คลายความขัดแย้งให้เบาบางลงได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น โอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาสื่อเพื่อสันติภาพในบริบทของสังคมไทยนั้น จะต้องเริ่มจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทบทวน ออกแบบ และรื้อสร้างใหม่ โดยองค์กรสื่อต้องตระหนักถึงความคาดหวังของสังคมที่มีต่อตนเอง และตระหนักถึงอิทธิพลที่ตนเองมีต่อทัศนคติและพฤติกรรมของผู้รับสาร และที่สำคัญเราเชื่อมั่นว่าหากสื่อมวลชนได้กำหนดเป้าหมายและเจตจำนงที่มุ่งมั่นเป็นสื่อเพื่อสันติภาพแล้ว จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนกรอบแนวคิด ตลอดจนแนวทางการนำเสนอ ร่วมกับปฏิรูปข้อกำหนดจริยธรรมทางวิชาชีพ และการผสมผสานรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรที่โปร่งใสในรูปของคณะกรรมการที่เป็นกลางและเน้นการทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องใช้ปัจจัยเกื้อหนุนอื่นทางสังคม ทั้งภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาครัฐ

สำหรับภาคส่วนอื่นที่จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนนั้น เราเชื่อมั่นการที่จะทำให้กระบวนการสื่อสารเพื่อสันติภาพเป็นจริงในทางปฏิบัติได้นั้น ภาครัฐซึ่งเป็นผู้ออกกฎหมายและบังคับนโยบายนั้นจะต้องดำเนินการในแง่ที่เกี่ยวกับกระบวนการสื่อสารในลักษณะต่าง ๆ กล่าวคือ ลดการแทรกแซงแต่เพิ่มการหนุนเสริม ลดการควบคุมแต่เพิ่มการคุ้มกัน ลดการชี้นำแต่เพิ่มความร่วมมือ และประการสุดท้าย เราเรียกร้องว่าภาครัฐต้องลดการส่งข่าวแต่เพิ่มการสื่อสาร ทั้งกับสื่อมวลชนและประชาชน

สำหรับภาคสังคมและประชาชน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญยิ่งที่เราต้องตระหนักถึง เพราะเขาเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงและจากการทำหน้าที่ที่บกพร่องของสื่อมวลชน เราคาดหวังว่าจะช่วยกันพัฒนาศักยภาพของผู้รับสารจากการเป็นเพียง “ผู้บริโภค” ที่เปิดรับเนื้อหาเพียงอย่างเดียว มาเป็น “พลเมืองที่รู้เท่าทัน” ที่สามารถคัดเลือก กลั่นกรอง เลือกใช้ และสื่อสารกลับในสิ่งตนเองต้องการไปยังสื่อมวลชนได้ คณะวิทยาการสื่อสารคาดหวังว่าเราจะมีเวทีสำหรับการพัฒนาคุณภาพผู้รับสารในสถานการณ์ความขัดแย้ง และเราตั้งใจว่าจะร่วมกับทุกท่าน ณ ที่นี้ และอีกหลากหลายภาคีในสังคมในการพัฒนา “คู่มือการบริโภคข่าวความขัดแย้ง”

สำหรับอีกหนึ่งภาคีคือ ภาควิชาการนั้น เราตระหนักดีว่าการเผยแพร่แนวคิดและแนวปฏิบัติของการสื่อสารเพื่อสันติภาพยังคงต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการค้นคว้า วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสังคมไทยยังคงจำเป็นยิ่ง ดังนั้น เวทีการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ ในครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่จะเกิดขึ้น และในอีกด้านหนึ่ง เราเชื่อว่าทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่วิชาชีพสื่อมวลชน จะเป็นตัวแปรสำคัญของวงการสื่อเพื่อสันติภาพในอนาคต นี่เป็นพันธกิจสำคัญประการหนึ่งที่ภาควิชาการไม่อาจละเลย ภาควิชาการมีหน้าที่ในการฟูมฟัก หล่อหลอม และพัฒนาให้ทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่ของเรามี “สันติภาพ” เป็นเป้าหมายในการประกอบวิชาชีพผู้สื่อข่าว

ในนามของผู้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ดิฉันขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนให้การดำเนินงานของเราสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ขอบคุณท่านวิทยากรทุกท่านที่ได้ช่วยกันเติมเต็มสาระด้านต่าง ๆ ของการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา ขอบคุณผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ร่วมกันเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเดินต่อไปของแนวคิดและแนวปฏิบัติการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพในสังคมไทยของเรา และขอขอบคุณศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ภาครัฐที่พร้อมจะเป็นกองหนุนสำคัญของการสร้างสังคมสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา

สุดท้ายนี้ ขออวยพรให้ทุกท่านเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ สวัสดีค่ะ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แนวคิดนี้น่าสนใจมากค่ะ น่าจะมีการเผยแพร่ให้แพร่หลายต่อไป