วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ม.อ.ปัตตานีจับมือ วช.เสนอผลงานวิจัยแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้


วันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดประชุมนำเสนอผลงานวิจัยบูรณาการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องสะบารัง โรงแรมซีเอสปัตตานี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยบูรณาการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ประสานงาน กล่าวว่า เหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์มลายูของสังคม การวิจัยชุดนี้เป็นความพยายามหนึ่งในการแสวงหาคำตอบ และการเปิดเวทีให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการเข้าร่วมรับฟังการเสนอผลงานการวิจัย ก็เป็นความพยายามหนึ่งที่จะเชื่อมการวิจัยไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

สำหรับการวิจัยที่มีการนำเสนอประกอบด้วย 5 ด้าน จำนวน 13 โครงการวิจัย คือ


กลุ่มที่ 1 การวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์มลายู และการสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย


โครงการวิจัยเรื่อง มลายูปตานี: ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ และการเปลี่ยนแปลง โดย ผศ.วรวิทย์ บารู


โครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาวิถีชีวิตของเยาวชนไทยมุสลิม เพื่อเสริมสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รศ.ดลมนรรจน์ บากา

กลุ่มที่ 2 การวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย

โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดของอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออกของประเทศไทย โดย ผศ.ไพรัช วัชรพันธุ์

โครงการวิจัยเรื่อง ศักยภาพและข้อจำกัดการผลิตข้าวเพื่อความมั่นคงของชาวนาในจังหวัดปัตตานี โดย รศ.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล

โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางพัฒนาการจัดการประมงชายฝั่งโดยองค์กรท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี และนราธิวาส โดย อ.เกื้อ ฤทธิบูรณ์


กลุ่มที่ 3 การวิจัยเพื่อการพัฒนาข้อเสนอนโยบายด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ภาษา และรูปแบบการบริหารสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย

โครงการวิจัยเรื่อง การศึกษานโยบาย มาตรการ และแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบ และการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ และคณะ

โครงการวิจัย เรื่อง รูปแบบบริหารพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รศ.ดร.อาคม ใจแก้ว


กลุ่มที่ 4 การวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบการฝึกอบรมที่สร้างการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การรับรู้ข่าวสารของประชาชน และการย้ายถิ่น ประกอบด้วย

โครงการวิจัย เรื่อง การกำหนดและประเมินสมรรถนะบุคลากรภาครัฐที่เหมาะสมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ดร.ชาลี ไตรรัตน์

โครงการวิจัยเรื่อง ผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกรณีการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางแก้ไข โดย ผศ.ปิยะ กิจถาวร

โครงการวิจัยเรื่อง ข่าวสารและการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเสริมสร้างประสิทธิภาพการสื่อสารของสื่อบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความสมานฉันท์ในชุมชน โดย อ.จารุณี สุวรรณรัศมี


กลุ่มที่ 5 การวิจัยเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพทวิภาษา การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย

โครงการวิจัย เรื่อง รูปแบบการพัฒนาความสามารถด้านการสื่อสารทวิภาษาระดับเบื้องต้นของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ผศ.ดร.ปราถนา กาลเนาวกุล

โครงการวิจัยเรื่อง วิเคราะห์ความต้องการการพัฒนากรอบหลักสูตรในโรงเรียนตาดีกา และสถาบันศึกษาปอเนาะ โดย ผศ.ดร.อิบราเฮม ณรงค์รักษาเขต

โครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามวิถีอิสลามในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเพื่อบูรณาภาพสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รศ.ดร.ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์

ไม่มีความคิดเห็น: